04/26/2024

Month: May 2017

หัวเว่ยประเทศไทย แต่งตั้งกรรมการผู้จัดการคนใหม่

หัวเว่ย ผู้จัดหาโซลูชั่นไอซีทีชั้นนำระดับโลก ประกาศแต่งตั้ง มร. เฉียง หัว ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
คนใหม่ของหัวเว่ย ประเทศไทย   ด้วยประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงไอซีทีมายาวนาน

มร. เฉียง หัว เข้าร่วมงานกับหัวเว่ย ณ สำนักงานใหญ่ ในเมืองเซิ่นเจิ้น เมื่อปีพ.ศ. 2541 ในตำแหน่งวิศวกรอาวุโส ฝ่ายธุรกิจใหม่ ภายหลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์การวัด จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเหอเฝย

29May2017-052-2

ก่อนที่จะก้าวมารับตำแหน่งในประเทศไทย  มร. เฉียง หัว ดำรงตำแหน่งประธานบริหาร ดูแลตลาดภูมิภาคตะวันออกของจีน โดยประจำอยู่ที่สำนักงานในกรุงปักกิ่ง  ต่อมาในปีพ.ศ. 2555 เขาจึงได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของหัวเว่ย ประจำสำนักงานสาขาเจ้อเจียง โดยประจำอยู่ที่เมืองหางโจว

มร. เฉียง มีประสบการณ์การทำงานบริหารระดับสูงในต่างประเทศเป็นเวลาหลายปีในแอฟริกา อาทิ รับผิดชอบดูแลฝ่ายผลิตภัณฑ์ซอฟท์แวร์ ประจำอยู่ที่เมืองเคป ทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ระหว่างปี 2549 – 2551 และฝ่ายผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นของแอฟริกาตะวันออก ในเมืองไนโรบี ประเทศเคนยา ระหว่างปี 2551 – 2553  ตลอดจนตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ประจำสำนักงานของหัวเว่ยในประเทศคองโก แอฟริกากลางด้วย

“หัวเว่ยกำลังเติบโตขึ้นอย่างมากในประเทศไทย และผมก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้นำประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดที่มีความสำคัญมากที่สุดตลาดหนึ่งของหัวเว่ย ให้ก้าวไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลาง
ไอซีทีของภูมิภาค  เราจะยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้คนไทยได้ใช้เทคโนโลยีไอซีที ผลิตภัณฑ์ และโซลูชั่นที่ล้ำหน้าที่สุด เรามีความตั้งมั่นที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรของเราอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐบาล บริษัทต่าง ๆ และทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อช่วยประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0” มร. เฉียง กล่าว

หัวเว่ยได้ต้อนรับนิสิตนักศึกษาด้านไอซีทีและเจ้าของธุรกิจมากมาย ที่มาเยือนศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ CSIC และศูนย์ฝึกอบรมในกรุงเทพฯ นับตั้งแต่เปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2559 ศูนย์อันทันสมัยทั้งสองแห่งนี้เป็นสถานที่อันยอดเยี่ยมสำหรับสอนและอบรมให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักการประดิษฐ์ ทดสอบ และสร้างโซลูชั่นและแอพพลิเคชั่นใหม่ ๆ    นอกจากนี้ หัวเว่ยยังเตรียมที่จะเปิดตัวโอเพ่นแล็บแห่งแรกของบริษัทในเร็ว ๆ นี้ เพื่อช่วยผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ยุคดิจิทัล รวมถึงสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ SME และ Startup ของไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศต่อไป

ไมโครซอฟท์เปิดตัว SQL Server 2017

ไมโครซอฟท์สานต่อพันธกิจการเสริมศักยภาพธุรกิจในการปฏิรูปการทำงานสู่ยุคดิจิทัลด้วยการประกาศเปิดตัว SQL Server 2017 ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดของโซลูชั่นแพลตฟอร์มข้อมูลชั้นนำของโลก นอกจากประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่เหนือกว่าคู่แข่ง และคุณสมบัติขั้นสูงในการวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว SQL Server 2017 ยังเป็นแพลตฟอร์มข้อมูลรุ่นแรกของไมโครซอฟท์ที่รองรับทั้งระบบปฏิบัติการลินุกซ์และด็อกเกอร์ ควบคู่ไปกับแพลตฟอร์มวินโดวส์ จึงทำให้ลูกค้าสามารถดึงศักยภาพของ SQL Server ออกมาใช้งานได้อย่างเต็มที่บนแพลตฟอร์มใดก็ได้

image001

“เป้าหมายของไมโครซอฟท์คือการหนุนให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในยุคของการปฏิรูปธุรกิจสู่โลกดิจิทัล และนวัตกรรม Internet of Things ด้วยเทคโนโลยี บิ๊ก ดาต้า คลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสามารถช่วยให้องค์กรค้นพบข้อมูลหรือมุมมองใหม่ๆ ที่อาจนำไปสู่วิถีทางการทำงานที่ดีกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเสริมประสิทธิภาพการทำงานด้วยระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ การตัดสินใจที่รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วยมุมมองและความเข้าใจใหม่ๆ ที่ทุกคนเข้าถึงได้ หรือแม้แต่การลดต้นทุนผ่านทางระบบประเมินความต้องการสินค้าล่วงหน้า เป็นต้น” คุณชาญ อาริยะกุล ผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจคลาวด์และโซลูชั่นสำหรับองค์กร บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “ไม่ว่าจะเป็นระบบข้อมูลแบบ on-premises หรือบนคลาวด์ เราเข้าใจดีว่าลูกค้าทุกรายต่างให้ความสนใจในโซลูชั่นที่รองรับแพลตฟอร์มได้หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ตรงกับระบบข้อมูลที่แตกต่างกันไปของแต่ละราย ด้วยเหตุนี้เอง ไมโครซอฟท์จึงได้พัฒนา SQL Server 2017 ให้รองรับทั้งวินโดวส์ เซิร์ฟเวอร์ และแพลตฟอร์มโอเพนซอร์สต่างๆ ทั้ง Red Hat Enterprise Linux, SUSE Enterprise Linux Server, Ubuntu และด็อกเกอร์ คอนเทนเนอร์ บนลินุกซ์และแมค”

นอกจากนี้ SQL Server 2017 ในรุ่น Community Technical Preview ที่สามารถดาวน์โหลดไปทดลองใช้งานได้แล้วนั้น ยังมาพร้อมกับคุณสมบัติใหม่อันชาญฉลาด ด้วยการผสานนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบฐานข้อมูล ระบบจัดเก็บข้อมูลดิบ (data lake) และระบบคลาวด์ จึงถือได้ว่าเป็นระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ (RDBMS) รายแรกที่มี AI ในตัว ส่วนบริการใหม่อย่าง Microsoft Machine Learning Services ก็ช่วยให้เซิร์ฟเวอร์ฐานข้อมูลสามารถทำงานกับสคริปต์ภาษาไพธอนและ R ได้ด้วยตนเอง ทั้งยังรองรับการใช้หน่วยประมวลผลกราฟฟิกของ NVIDIA ในการทำงานเชิงวิเคราะห์และเรียนรู้ขั้นสูง ทั้งกับข้อมูลในรูปแบบภาพ ข้อความ และข้อมูลที่ไร้โครงสร้าง

“ผลสำรวจของ McKinsey & Company เผยว่าธุรกิจที่ใช้งานระบบวิเคราะห์ข้อมูลกันอย่างกว้างขวางภายในองค์กร จะมีโอกาสทำผลงานได้ดีกว่าคู่แข่งถึงสองเท่าตัว ทั้งในด้านยอดขาย ผลกำไร การเติบโต และผลตอบแทนจากการลงทุน” คุณชาญกล่าวเสริม “SQL Server 2017 จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถทำการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้ง่ายและแม่นยำยิ่งขึ้น การผนึกเอาระบบวิเคราะห์ข้อมูลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ SQL Server ส่งผลให้แพลตฟอร์มข้อมูลของเรามีความปลอดภัยสูง ลดความเสี่ยงด้านการรั่วไหลของข้อมูล และลดความซับซ้อนในเชิงกฎหมายลง เนื่องจากไม่จำเป็นต้องถ่ายโอนข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลไปยังระบบวิเคราะห์อีกต่อไป”

SQL Server รุ่นล่าสุดนี้ เป็นระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์แพลตฟอร์มแรกที่รองรับข้อมูลแบบกราฟ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถนำข้อมูลแบบไร้โครงสร้างมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์และมุมมองใหม่ๆ อันเป็นประโยชน์ได้ นอกจากนี้ SQL Server 2017 ยังมีตัวเชือมต่อ (connector) ที่ครบครันและทันสมัย ใช้งานได้กับแหล่งข้อมูลจำนวนมาก เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลในหน่วยความจำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ส่วนในด้านประสิทธิภาพ SQL Server 2017 ยังพัฒนาต่อยอดความเป็นผู้นำเชิงสมรรถนะด้วยการประมวลผลข้อมูลแบบ row-based in-memory OLTP และการบีบอัดข้อมูลแบบ ColumnStore ซึ่งทำให้ระบบสามารถทำการวิเคราะห์ข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ส่วนในด้านระบบคลังข้อมูลนั้น SQL Server 2017 ยังเป็นผู้นำด้านความคุ้มค่า ด้วยสมรรถนะและราคาที่โดดเด่นที่สุดจากการทดสอบประมวลผลข้อมูล TPC-H 1TB, 10TB และ 30TB แบบ non-clustered

SQL Server 2017 ได้รับเลือกให้เป็นแพลตฟอร์มข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูงสุดโดยสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ (NIST) สหรัฐอเมริกา จึงพร้อมปกป้องข้อมูลของคุณในทุกขณะด้วยคุณสมบัติ Always Encrypted ที่เข้ารหัสข้อมูลในทุกขั้นตอนภายในแอพพลิเคชัน โดยไม่เปิดเผยกุญแจรหัสให้ระบบฐานข้อมูลนำไปใช้งาน ส่วนฟังก์ชันอย่าง Dynamic Data Masking และ Row-Level Security ก็ปกป้องข้อมูลของคุณด้วยการรักษาสิทธิ์การเข้าถึงสำหรับผู้ได้รับอนุญาตเท่านั้น

การรองรับระบบปฏิบัติการลินุกซ์ของ SQL Server 2017 ยังรวมถึงโครงสร้างระบบ HA (High Availability) ที่มีความยืดหยุ่นสูงขึ้น เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถวางระบบ Always On ที่ผสมผสานเซิร์ฟเวอร์ลินุกซ์และวินโดวส์ไว้ด้วยกัน พร้อมทำงานทดแทนกันเพื่อให้แพลตฟอร์มข้อมูลพร้อมใช้งานอยู่เสมอ แม้ในกรณีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดยมีระบบสำรองที่พร้อมทำงานตั้งแต่ระดับระบบปฏิบัติการ ส่วนในด้านความปลอดภัย SQL Server บนลินุกซ์ ก็มีคุณสมบัติครบครัน ทั้งยังมอบทั้งความปลอดภัยมาตรฐานระดับองค์กร พร้อมด้วยสมรรถนะและความคุ้มค่าสูงสุดเช่นเดียวกับบนวินโดวส์

ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลด SQL Server 2017 รุ่น Community Technical Preview ไปทดลองใช้งานได้ที่ https://www.microsoft.com/en-us/sql-server/sql-server-2017 หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 02 263 6888

ฟูจิ ซีร็อกซ์ ประกาศจัดงาน DocuWorld 2017 โชว์ที่สุดแห่งนวัตกรรมทางธุรกิจในยุคดิจิทัล

บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านผลิตภัณฑ์การพิมพ์และการบริหารจัดการเอกสารอย่างครบวงจร ประกาศจัดงาน DocuWorld 2017 งานแสดงและสาธิตนวัตกรรมประจำปี ภายใต้แนวคิด “Greater Innovation, Greater Tomorrow” เพื่อจัดแสดงที่สุดแห่งนวัตกรรมเพื่อความเป็นผู้นำในทุกธุรกิจ ระหว่างวันที่ 7 – 8 มิถุนายน 2560 เวลา 9.00 – 17.00 น. ณ ชั้น 23 ห้องเวิลด์ บอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

Docuworld17 card-front

ภายในงาน DocuWorld 2017 จะมีการจัดแสดงนวัตกรรมการบริหารจัดการงานเอกสาร ครอบคลุมสำหรับแผนกงานหลักๆ ในทุกองค์กร พร้อมการสาธิตการทำงานในรูปแบบเสมือนจริง อาทิ Digital Invoice Hub & Printing Solution ที่เข้ามาช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่าย ในการทำงานเอกสารของแผนก Finance & Accounting, Integrated Solution HR Hub ที่รวบรวมโซลูชั่นสำหรับการบริหารงานบุคคลและสำนักงาน ทั้งการจัดเก็บ ค้นหา และจัดการข้อมูลอย่างมืออาชีพ เป็นต้น รวมทั้งโซลูชั่น Smart Work Gateway (SWG) สำหรับองค์กรที่ต้องการปรับเปลี่ยนสู่การทำงานในรูปแบบดิจิทัล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วยการบริหารจัดการเอกสารจากทุกที่ ทุกเวลา ผ่านการเชื่อมโยงบนระบบคลาวด์ พร้อมระบบรักษาความปลอดภัยระดับสูง เพื่อให้ทำงานได้อย่างมั่นใจและคล่องตัว หรือแพคเกจโซลูชั่น Cloud Communication Tool (CCT) ที่ประกอบด้วย 6 โซลูชั่นคุ้มค่าจากฟูจิ ซีร็อกซ์ และ Cloud Service Hub (CSH) บริการเชื่อมต่อเครื่องมัลติฟังก์ชั่นกับคลาวด์ยอดนิยมที่สามารถใช้งานผ่านเครื่องได้ทันที พร้อมทั้งจัดแสดงเครื่องพิมพ์และโซลูชั่นอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถตอบโจทย์การทำงานของทุกส่วนงานในองค์กร  ซึ่งผู้ร่วมงานสามารถเข้าชม และเรียนรู้จากการสาธิตการใช้งานจริง เพื่อความเข้าใจและเตรียมพร้อมที่จะเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในยุคไทยแลนด์ 4.0

นอกจากนี้ ตลอดการจัดงานยังมีสัมมนาพิเศษในหัวข้อที่น่าสนใจ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับการวางกลยุทธ์ให้กับธุรกิจในยุคดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น อาทิ  คุณกรณ์ จาติกวณิช ประธานสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย, คุณรวิศ หาญอุตสาหะ กรรมการผู้จัดการบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด  และดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พร้อมลุ้นรับของรางวัลมากมายจากกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน

สถาบันไอเอ็มซีระดม 17 กูรูจัดสัมนา Blockchain แห่งปี กระตุ้นองค์กรไทยตามทันก่อนโลกเปลี่ยนแรง

สถาบันไอเอ็มซีเผยผลสำรวจทักษะบุคลากรด้านไอทีในประเทศไทย พบอัตราการใช้เทคโนโลยี Cloud และ Big Data ในองค์กรไทยเพิ่มสูงขึ้นชัดเจน แต่สถิติการตอบรับ Cloud และ Big Data ที่สูงขึ้นสวนทางกับเทคโนโลยีใหม่อย่าง Blockchain ที่อยู่ในระดับต่ำมาก สะท้อนว่าบุคลากรไทยยังต้องได้รับการผลักดันต่อเนื่องเรื่อง Blockchain เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแข็งแกร่ง

ARR_5207

ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี อธิบายว่า Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่องค์กรไทยควรตระหนักและนำไปใช้ เพราะ Blockchain นั้นสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ไม่เพียงการโอนเงินที่ปลอดภัยและรวดเร็ว แต่ยังลดโอกาสที่ไวรัสหรือมัลแวร์จะทำลายข้อมูลในคอมพิวเตอร์ด้วย

“Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนให้ความสนใจ เพราะถูกมองว่าจะเหมือนกับอินเทอร์เน็ตที่เข้ามาเปลี่ยนโลกทั้งใบ อย่างมัลแวร์ WannaCry ถ้ามี Blockchain ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะข้อมูลถูกจัดเก็บหลายที่”

สำหรับ Blockchain นั้นเป็นเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบกระจายหลายที่จนทำให้เกิดความปลอดภัยสูง จุดเด่นนี้ทำให้เทคโนโลยี Blockchain มีแผนถูกนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง

จุดเด่นของ Blockchain ยังอยู่ที่การตรวจสอบความเคลื่อนไหว ซึ่งจะทำให้องค์กรรับรู้ข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างโปร่งใส ทำให้ Blockchain ไม่ได้เหมาะกับเพียงระบบโอนเงินเท่านั้น แต่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกระบบที่ต้องการเก็บข้อมูล ทั้งรูปแบบจำกัดเฉพาะคนในองค์กร (Private) และแบบเปิดกว้างต่อสาธารณชน (Public)

ทั้งหมดนี้ทำให้ไม่น่าแปลกใจ เมื่อการสำรวจปี 2016 ของ IBM พบว่า 15% ของธนาคารใหญ่ระดับโลก กำลังมีแผนประยุกต์ Blockchain เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเต็มรูปแบบในปีนี้ (2017) ก่อนที่ตัวเลขนี้จะขยับเพิ่มเป็น 65% ในอีก 3 ปีหรือปี 2019[1]

“สถาบันไอเอ็มซีจึงจัดอบรมสำหรับทั้งนักพัฒนาและผู้บริหาร เราต้องการให้หลายส่วนได้เรียนรู้ที่มาที่ไป เราเชิญวิทยากร 17 คนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เคยสัมผัส Blockchain มาแล้วและพบประเด็นจากประสบการณ์ตรง หัวข้อของเราครบทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงข้อบังคับ และกฏหมายที่ต้องเตรียมปรับเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลง” ดร.ธนชาติระบุ “หลายอุตสาหกรรมยังไม่ทราบว่า Blockchain จะส่งผลกระทบอย่างไร ต้องติดตั้งระบบอื่นหรือไม่ และต้องเตรียมตัวอย่างไร”

ดร.ธนชาติ ยกตัวอย่างว่าในอนาคต ฐานข้อมูลทะเบียนรถยนต์ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้กับ Blockchain เพื่อให้ทุกคนได้เห็นการทำธุรกรรมที่โปร่งใสขึ้น เช่นที่รัฐบาลเอสโทเนียเริ่มนำ Blockchain มาเพิ่มความยืดหยุ่นในการให้บริการประชาชนได้ชัดเจนแล้ว

“อุตสาหกรรมการเงินเริ่มเห็นแล้ว ธนาคารเริ่มจะนำ Blockchain มาใช้กับระบบเก็บสัญญา โรงงานที่ส่งออกสินค้าไปอียูที่อยากพิสูจน์ตัวเองว่าดำเนินการถูกต้องตามหลักเกณฑ์ Blockchain ก็สามารถช่วยได้ ผมคิดว่า 2-3 ปีข้างหน้า เราจะเห็น Blockchain ในอุตสาหกรรมต่างๆมากขึ้น การแพทย์ก็จะเห็น ทั้งหมดเราจะพูดในงานสัมนานี้ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในเมืองไทย”

ในภาพรวม มูลค่าตลาดบริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Blockchain ทั่วโลกคาดว่าจะขยายตัวจาก 210 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2016 มาเป็น 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 โดยเม็ดเงินบางส่วนจะหมุนวนในกลุ่มผู้ให้บริการโซลูชันและโครงข่ายเป็นหลัก[2]

สำหรับประเทศไทย ดร.ธนชาติ เชื่อว่าการลงทุนเรื่องเทคโนโลยี Blockchain ควรจะเริ่มที่การพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะทำให้องค์กรไทยมีความพร้อมเพิ่มขีดความสามารถสู่ระดับโลก

“องค์กรไทยต้องลงทุนเรื่องคน ให้มีความเข้าใจ การเติบโตเรื่องอื่นจะตามมาทีหลัง คนต้องเข้าใจก่อนว่า Blockchain เข้ามาใช้ทำอะไรได้บ้าง แล้วก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง”


สำรวจพบคนไทยพร้อม BigData มากขึ้น

ในขณะที่ Blockchain ยังเป็นเรื่องใหม่ของบุคลากรไอทีไทย การสำรวจล่าสุดของสถาบันไอเอ็มซีพบว่าคนไอทีไทยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีอย่าง BigData มากขึ้น สถิตินี้สะท้อนว่าสถาบันไอเอ็มซีช่วยประตุ้นตลาดขึ้นมาได้ส่วนหนึ่ง

“เราสุ่มตัวอย่างกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 250 ราย พบว่าบุคลากรไอทีไทยมีความสนใจเรื่อง BigData มากขึ้น แต่เทคโนโลยีใหม่ เราก็ยังต้องพัฒนาต่อไป”

การสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกิน 40% เข้าใจและเริ่มใช้เทคโนโลยี BigData โดยราว 56% ระบุว่าเคยใช้เทคโนโลยี Cloud Computing บุคลากรกลุ่มนี้ราว 40% บอกว่าเคยใช้งาน Apache Hadoop และ 30% เคยใช้งาน NoSQL

สรุปแล้ว ผลการวิจัยนี้สะท้อนว่าบุคลากรไอทีไทยมีประสบการณ์การใช้เทคโนโลยี Cloud Computing และ Big Data ดีขึ้นมาก โดยภาษา Java และ PHP ยังเป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาถึงเทคโนโลยีใหม่อย่าง Spark, Microservices, Container หรือ DevOp ที่เริ่มใช้งานแพร่หลายในต่างประเทศ บุคลากรไอทีไทยยังไม่มีประสบการณ์มากนัก จึงควรที่จะต้องเร่งพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ รวมถึงเรายังขาดประกาศนียบัตรระดับสากลที่จะทำให้บุคลากรไอทีไทยเป็นที่ยอมรับมากขึ้นด้วย.

 

[1] ที่มาของข้อมูล https://news.bitcoin.com/ibm-65-percent-banks-blockchain/

[2] ที่มาของข้อมูล http://www.prnewswire.com/news-releases/blockchain-technology-market-growing-at-615-cagr-to-2021-597034371.html

“Elbow” เครื่องเล่นเทปยุค 4.0

หากท่านผู้อ่านเป็นชาว Gen X หรือ Baby Boom เชื่อว่าทุกวันนี้หลายท่านคงยังเก็บเทปคลาสเซ็ทเพลงในความทรงจำเอาไว้ แม้จะหาเครื่องเล่นที่สามารถเล่นเทปเพลงเหล่านั้นได้ยากมากแล้วก็ตาม

350212_1_800
ในขณะที่อีกฟากหนึ่ง โลกของเทปคลาสเซ็ทเองก็ดูมีโอกาสที่จะกลับมา เมื่อ TrendHunter ชี้ว่า มีตัวเลขคอนซูเมอร์จำนวนไม่น้อยที่หันกลับมาซื้อเทปคลาสเซ็ทเพิ่มมากขึ้น แทนที่จะไปซื้อเพลงฟังในรูปแบบดิจิตอล ผลก็คือ มีนักพัฒนาสองคน จับมือกันพัฒนาเครื่องเล่นเทปคลาสเซ็ทขนาดกระทัดรัดขึ้นมาให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในยุค 4.0

โดยเครื่องเล่นเทปดังกล่าวมีชื่อว่า “Elbow” ที่สามารถเล่นเทปเพลงได้ด้วยขนาดที่เล็กมากเมื่อเทียบกับเครื่องเล่นเทปในอดีต แถมยังมีสายไฟ และแจ็คสำหรับเสียบหูฟังให้มาพร้อมกันด้วย

350212_3_800

350212_5_800

ลองพิจารณาภาพด้านล่างที่เรานำมาฝากพร้อมกันนี้ แล้วจะเห็นว่ามันใช้งานได้ง่ายมากจริง ๆ

ที่มา http://www.trendhunter.com/trends/cassette-player

CAT จับมือ ที บี เอ็น วางระบบสื่อสารครบวงจร ดัน เดอะพาซิโอ พาร์ค คอมมูนิตี้มอลล์ แห่งใหม่ย่านกาญจนาภิเษก

บริษัท ที บี เอ็น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) จัดพิธีลงนามความร่วมมือการให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจรภายในโครงการ เดอะพาซิโอ พาร์ค โดยมี นายวิจักษณ์ เลิศประเสริฐภากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที บี เอ็น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ร่วมกับ นายสมยศ  ธนพิรุณธร  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย CAT เป็นผู้แทนลงนาม ณ สำนักงานใหญ่ โครงการ เดอะพาซิโอ พาร์ค ถนนกาญจนาภิเษก

18738595_837229519760084_5662687556871950116_o

โครงการ เดอะพาซิโอ พาร์ค จัดเป็นคอมมูนิตี้มอลล์แห่งใหม่ ตั้งอยู่บนถนนกาญจนาภิเษก-บางแค ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Japanese Life Style Mall” ตกแต่งและจำลองเมืองในประเทศญี่ปุ่น 3 ยุค คือ ยุคเอโดะ (ญี่ปุ่นในสมัยโบราณ) ยุคเฮเซ (ญี่ปุ่นในปัจจุบัน) และยุค FUTURISTIC (ญี่ปุ่นในอนาคต) ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและความเจริญขั้นสูงสุด บนเนื้อที่กว่า 50 ไร่  ซึ่งได้รับการตอบรับจากธนาคาร,  ร้านค้า, ร้านอาหาร, ผู้ประกอบการ, แบรนด์ชั้นนำ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ เดอะพาซิโอ พาร์ค รวมกว่า 235 ร้านค้า มีที่จอดรถรองรับได้ถึง 1,200 คัน ทำให้เป็นการตอบโจทย์ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการได้เป็นอย่างดี

โดยภายในโครงการ  CAT จะทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการระบบสื่อสารโทรคมนาคมทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวแก่ร้านค้า ผู้ประกอบการ นิติบุคคลต่างๆ ที่เปิดให้บริการภายในพื้นที่ ระยะเวลาสัญญารวม 7 ปี ซึ่งบริการที่ให้ประกอบด้วยบริการอินเทอร์เน็ต บริการโทรศัพท์พื้นฐาน บริการสื่อสารข้อมูล บริการ WiFi ตลอดจนบริการอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ อาทิ บริการCAT Onnet, One Connect,  MPLS, Ethernet, Inhouse Connect, WiFi และ SSID ทั้งนี้ CAT ได้จัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ รวมถึงวางระบบสื่อสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บริการมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งสามารถรองรับทุกความต้องการของผู้ใช้งานได้เต็มรูปแบบตลอด 24 ชั่วโมง

18766630_837231039759932_3675576529619473288_o

นายวิจักษณ์ เลิศประเสริฐภากร กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ที บี เอ็น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า “เดอะพาซิโอ พาร์ค เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2558 ได้รับการตอบรับจากร้านค้า ผู้ประกอบการ ลูกค้า เข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารภายในศูนย์การค้าฯ ที่ถือความสำคัญเป็นอย่างมากในปัจจุบัน และจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมโดยตรงเป็นผู้ดูแล ให้บริการ ความสะดวกสบาย ซึ่งจากความร่วมมือกับ CAT ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงพร้อมให้ความร่วมมือในโครงการเดอะพาซิโอ พาร์ค นี้ อำนวยความสะดวกในเรื่องของสถานที่ การติดตั้งอุปกรณ์ รวมทั้งการทำงานต่างๆของทีมงานอีกด้วย”

นายสมยศ  ธนพิรุณธร  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย CAT กล่าวว่า  “เพื่อเป็นการตอบโจทย์โครงการ The Paseo Park ที่ได้วาง คอนเซ็ปต์ให้เป็นแหล่งคอมมูนิตี้มอลล์ที่เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีและความเจริญสูงสุด CAT ได้จัดเตรียมทีมช่างที่มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการ ทั้งในด้านให้คำปรึกษา ดูแล ซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบสื่อสารและอุปกรณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับบริการโทรคมนาคม โดยจัดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าจะสามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ในทุกความต้องการ

สำหรับการร่วมลงนามในครั้งนี้นับเป็นความร่วมมือครั้งที่สองต่อเนื่องจากโครงการ เดอะ พาซิโอ ทาวน์ รามคำแหง ซึ่งเป็นคอมมูนิมอลล์ขนาดใหญ่บนเนื้อที่ 30 ไร่ ที่ทางบริษัท ที บี เอ็น พร็อพ เพอร์ตี้ จำกัด ได้ให้ความไว้วางใจ CAT เป็นผู้ให้บริการระบบสื่อสารโทรคมนาคมแต่เพียงผู้เดียวนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา”

บริษัทไอทีมาเลเซียดึง IoT ให้ข้อมูล “เกษตร-พลังงาน-ภัยพิบัติ”

บริษัทไอทีสัญชาติมาเลเซียเปิดตัว 3 โซลูชัน IoT หวังช่วยจัดการกับความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วม การใช้พลังงานมากเกินความจำเป็น  และการจัดการด้านการเกษตรให้ได้ผลิตผลที่ดีขึ้น

Chia Yong Wei ซีอีโอของ Microlink Solutions หนึ่งในบริษัทเครือ Omesti Group ผู้พัฒนาโซลูชันดังกล่าว เปิดเผยว่า ทั้ง 3 โซลูชันเป็นระบบบริหารจัดการสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ ได้แก่ the Smart Environmental Management System, Smart Energy Management System และ Smart Plantation System

IoT_natural_-_GraphicStock_-_done_large

“เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมาก และช่วยให้มนุษย์เราสามารถอาศัยได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น อย่างไรก็ดี มีช่องว่างในตลาดที่ยังต้องการโซลูชันด้าน IoT แบบเฉพาะทางอยู่อีกมากในอีกหลาย ๆ อุตสาหกรรม” Chia กล่าว

พร้อมกับเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการเครื่องมือและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้บริษัทรับมือกับภัยธรรมชาติมาโดยตลอด ซึ่ง Chia เผยว่า Smart Environmental Management System หรือระบบบริหารจัดการสภาพแวดล้อมอัจฉริยะนั้นจะเข้ามาช่วยจัดการเรื่องปัญหาน้ำท่วมให้กับธุรกิจได้ โดยจะเป็นตัวช่วยประเมินความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมตามพื้นที่ต่าง ๆ ของมาเลเซีย

“ในแต่ละปี มาเลเซียได้รับน้ำฝนเฉลี่ย 2,500 มิลลิเมตร ซึ่งปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่ามีมรสุมเข้าหรือไม่ ฯลฯ ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเกิดน้ำท่วมก็จะนำมาซึ่งความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนมกราคมที่ผ่านมามีชาวมาเลเซียประมาณ 15,000 คนในซาบาห์ และเปรักถูกน้ำท่วมในระดับรุนแรง ขณะที่เดือนมีนาคม กรุงกัวลาร์ลัมเปอร์ก็ประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน

Chia อธิบายว่า ในอนาคต ด้วยระบบ Smart Environmental Management System ของ Microlink นั้นทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และส่งข้อมูลของปริมาณน้ำฝน ความชื้น ระดับน้ำ ฯลฯ เข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อตรวจวัดค่าได้ตลอดเวลา ซึ่งทำให้ศูนย์กลางสามารถเตรียมรับมือ หรือหาทางป้องกันปัญหาน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที

“โซลูชันนี้่ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง และคาดการณ์ได้ว่า จะเกิดภัยพิบัติที่พื้นที่ใดจากข้อมูลที่ระบบเก็บมาได้ อีกทั้งการมีข้อมูลยังทำให้สามารถแจ้งเตือนแก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงที และในกรณีที่เกิดน้ำท่วม ระบบก็ยังสามารถส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ประสบภัย เช่น ภาพถ่ายแผนที่แบบเรียลไทม์ได้อีกด้วย”

สำหรับระบบต่อไปอย่างระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (the Smart Energy Management System) นั้น Chia อธิบายว่า เกิดจากความต้องการใช้งานไฟฟ้าในประเทศที่เพิ่มขึ้นจาก 4,074 กิโลวัตต์ต่อคนในปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็น 4,194 กิโลวัตต์ในปี 2014 ซึ่งความต้องการที่เพิ่มขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี หากมีระบบ Smart Energy Management System ที่สามารถมอนิเตอร์การใช้พลังงานจากทุกอุปกรณ์ในวงจรไฟฟ้าได้แบบเรียลไทม์ และนำข้อมูลไปวิเคราะห์ ก็จะทำให้ผู้บริหารอาคารสามารถทราบถึงการใช้พลังงานตามส่วนต่าง ๆ ของอาคารได้ดียิ่งขึ้น และโซลูชันนี้ยังทำงานได้ผ่านเว็บ และแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์โมบายล์ด้วย

“ทุกธุรกิจตอนนี้มีข้อมูล สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ โซลูชันด้าน IoT ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลนั้น ๆ ได้ และช่วยให้พวกเขาตัดสินใจได้ถูกต้องในการลดการสิ้นเปลืองพลังงาน” Chia กล่าว

ส่วนระบบสุดท้าย The Smart Plantation System ซึ่งเป็นระบบช่วยด้านการเพาะปลูกนั้น จะให้ข้อมูลกับเกษตรกรในด้านต่าง ๆ ที่ได้จากอุปกรณ์ IoT เช่น อุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ระดับความอุดมสมบูรณ์ในดิน เพื่อให้เกษตรกรสามารถควบคุมกระบวนการปลูกได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเก็บเกี่ยวให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีปริมาณมากนั่นเอง

ทั้งนี้ Microlink มีแผนจะสร้างความตระหนักในการใช้งานโซลูชัน IoT ให้เกิดขึ้น และจะเปิดตัวกรณีศึกษาของธุรกิจที่นำไปใช้งานจริงในอนาคตอันใกล้นี้

ที่มา https://computerworld.com.sg

ข้อแนะนำที่เพื่อไม่ให้ธุรกิจตกยุค Digital Transformation

ต้องยอมรับว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคของการนำเทคโนโลยีดิจิตัลมาประยุกต์ฬช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจหรือ Digital Transformation นั่นเอง

shutterstock_533634832-2

สำหรับธุรกิจที่ไม่อยากตกยุคของ DX Economy ทีมงาน Eworld มีข้อแนะนำที่คุณต้องลงมือปฏิบัติดังต่อไปนี้

 

  1. ยอมรับ เพราะการยอมรับว่า DX นั้นมาถึงแล้ว จะทำให้คุณเตรียมตัวรับมือมันได้ดีขึ้น
  2. เข้าใจลูกค้าและสภาพการแข่งขัน เพื่อนำไปสู่การใช้ Big Data อย่างเข้าใจมากขึ้น
  3. สร้างพันธมิตร อย่าพัฒนาแอปพลิเคชันที่ไม่สามารถใช้งานร่วมกับใครได้เลย แต่ควรสร้างพาร์ทเนอร์เพื่อขยายการทำงานของแอปพลิเคชันและบริการ
  4. การทำ DX ต้องเกิดขึ้นบน 5 แกน นั่นคือ ต้องสร้างนวัตกรรม จากนั้นต้องมีการรีวิวระบบการจัดการ, มีการรีวิวการใช้ข้อมูลขององค์กร, มีการรีวิววิธีที่ธุรกิจมีส่วนร่วมกับลูกค้า และรีวิววิธีการสร้าง Talent ภายในองค์กร

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ แรนซั่มแวร์ WannaCry ที่องค์กรต้องเข้าใจ

ประเด็นสำคัญ

  • Trend Micro ตรวจพบมัลแวร์ WannaCry/Wcry เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2560 ซึ่งสายพันธุ์แรก (RANSOM_WCRY.C) ถูกเผยแพร่ผ่านการโจมตีแบบอีเมล์ที่ล่อให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดมัลแวร์นี้จากดรอปบ็อกซ์ แม้ว่าจะไม่ใช่สายพันธุ์ที่สร้างความเสียหายในปัจจุบันก็ตาม
  • เมื่อวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา พบ WannaCry สายพันธุ์ใหม่ (RANSOM_WCRY.I / RANSOM_WCRY.A) ซึ่งถูกพัฒนามาจากสายพันธุ์ที่ระบาดเมื่อเมษายน โดยมีการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ CVE-2017-0144 ที่รู้จักกันในชื่อ EternalBlue หรือ MS17-10 โดยบั๊กนี้เปิดให้แรนซั่มแวร์แพร่กระจายตัวเองในลักษณะของเวิร์มทั่วทั้งเครือข่ายที่ไม่มีการป้องกัน โดยเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์เพิ่งออกแพทช์สำหรับวินโดวส์รุ่นที่เคยปลดระวางการซัพพอร์ตไปแล้วสำหรับช่องโหว่นี้ด้วย (ได้แก่ วินโดวส์ XP, วินโดวส์ 8, และวินโดวส์เซิร์ฟเวอร์ 2003) เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น
  • กระบวนการจัดการแพทช์ที่แข็งแกร่ง ถือเป็นหัวใจสำหรับป้องกันเกิดช่องโหว่อย่าง MS17-010 ซึ่งเป็นบั๊กสำคัญที่ทำให้ WanaCry มีอันตรายร้ายแรงมากกว่าแรนซั่มแวร์ตัวอื่นในขณะนี้ ช่องโหว่ดังกล่าวมีการออกแพทช์มาตั้งแต่เดือนมีนาคมสำหรับวินโดวส์ที่ไมโครซอฟท์ยังซัพพอร์ตอยู่ แต่ผู้ไม่ประสงค์ดีต่างทราบว่าการที่องค์กรขนาดใหญ่จะแพทช์ช่องโหว่ที่รู้จักนั้นต้องใช้เวลาพอสมควร จึงรีบโจมตีขนานใหญ่ทั่วโลกในครั้งนี้ ทาง Trend Micro ได้มีคำแนะนำที่โหลดได้ทาง https://www.trendmicro.com/vinfo/us/security/news/virtualization-and-cloud/virtual-patching-in-mixed-environments-how-it-protects-you เพื่อช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ติดตั้งระบบแพทช์ที่สร้างความปลอดภัยให้แก่ระบบของตัวเองได้อย่างแท้จริง
  • Trend Micro ได้ให้เครื่องมือสำหรับตรวจสอบแรนซั่มแวร์ WannaCry แบบไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งทูลนี้ใช้ระบบ Machine Learning และเทคนิคอื่นๆ ที่คล้ายกับในโซลูชั่น OfficeScan XG เพื่อแสดงถึงความสามารถในการปกป้องของทูลความปลอดภัยบนเอนด์พอยต์ขั้นสูง ซึ่งนอกจากการปกป้องเอนด์พอยต์ที่แข็งแกร่งแล้ว Trend Micro ยังได้แนะนำให้ใช้โซลูชั่นความปลอดภัยที่แข็งแกร่งสำหรับอีเมล์ เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อตั้งแต่เริ่มแรก (76% ของการโจมตีด้วยแรนซั่มแวร์ในปี 2559 เกิดจากการส่งเมล์หลอกลวง) พร้อมกับยุทธศาสตร์การสำรองข้อมูลที่แข็งแกร่งร่วมกัน เพื่อช่วยกู้คืนระบบจากการโจมตีของแรนซั่มแวร์ด้วย

 

shutterstock_599408072-2

คำถามที่พบบ่อย

คำถาม: ตอนนี้เรารู้อะไรเกี่ยวกับ WannaCry/WCry บ้าง?

คำตอบ: ถือเป็นการติดเชื้อแรนซั่มแวร์ที่ไม่มีสัญญาณแจ้งให้ทราบมาก่อน ซึ่งมีผลกระทบต่อองค์กรจำนวนมหาศาลในหลายกลุ่มธุรกิจทั่วโลก โดยแรนซั่มแวร์ที่เป็นต้นเหตุคือ WannaCry/WCRY (ตรวจพบโดย Trend Micro ในชื่อ RANSOM_WANA.A และ RANSOM_WCRY.I) ซึ่งก่อนหน้านี้ Trend Micro ได้ตรวจพบและเฝ้าติดตาม WannaCry ตั้งแต่การระบาดช่วงแรกเมื่อเมษายน 2560 และให้การปกป้องผู้ใช้งานและองค์กรต่างๆ ผ่านฟีเจอร์ป้องกันแรนซั่มแวร์บนโซลูชั่นความปลอดภัย XGenTM ของ Trend MicroTM ที่ใช้เทคโนโลยี Machine-Learning มาแล้วตั้งแต่ต้น มัลแวร์ WannaCry หรือ WCRY นี้มีการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของไมโครซอฟท์ที่เพิ่งมีการเปิดเผยสู่สาธารณะ (ชื่อ MS17-010 – “EternalBlue”) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยทูลของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ชื่อ Shadow Brokers การโจมตีครั้งนี้มีผลกระทบต่อองค์กรต่างๆ ทั่วโลก ในทุกภาคส่วน โดยทีมนักวิจัยของเรากำลังวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้อย่างละเอียด

 

คำถาม: ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง?

คำตอบ: หลายบริษัทในยุโรปเป็นกลุ่มแรกที่รายงานความเสียหาย โดยระบบงานที่สำคัญถูกล็อกไม่ให้ใช้งาน พร้อมแสดงข้อความเรียกค่าไถ่ จากนั้นก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นการระบาดของแรนซั่มแวร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ส่งผลถึงองค์กรจำนวนมหาศาลทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ซึ่งบางองค์กรถึงขั้นที่ต้องปิดการทำงานของโครงสร้างพื้นฐานไอทีทั้งระบบ รวมทั้งเหยื่อที่อยู่ในวงการสาธารณสุขต้องเผชิญกับความล่าช้าในด้านการรักษาพยาบาล ถูกบีบให้ปฏิเสธการรักษาคนไข้จนกว่าระบบจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

 

คำถาม: กระทบใครบ้าง?

คำตอบ: แรนซั่มแวร์ WannaCry สายพันธุ์นี้มุ่งโจมตีระบบวินโดวส์ที่ยังใช้รุ่นเก่าอยู่ โดยสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงจากช่องโหว่เหล่านี้ จากการประเมินเบื้องต้นของ Trend Micro พบว่ามีการระบาดของแรนซั่มแวร์ WannaCry มากที่สุดในโซนยุโรป ถัดมาจะเป็นประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง, ญี่ปุ่น, และบางประเทศในเขตเอเชียแปซิฟิกตามลำดับ

 

พบการติดเชื้อ WannaCry ในองค์กรหลายกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านบริการสุขภาพ, การผลิต, พลังงาน (น้ำมันและแก๊ส), เทคโนโลยี, อาหารและเครื่องดื่ม, การศึกษา, สื่อมวลชนและการสื่อสาร, รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากธรรมชาติของพฤติกรรมการโจมตีลักษณะนี้ไม่ได้เจาะจงเหยื่อรายใด หรือกลุ่มธุรกิจไหนเป็นพิเศษ

 

คำถาม: แรนซั่มแวร์ WannaCry ทำอะไรบนเครื่องเราบ้าง?

คำตอบ: แรนซั่มแวร์ WannaCry จะตรวจหาไฟล์เป้าหมายกว่า 176 ประเภทเพื่อเข้ารหัสไฟล์ ตัวอย่างประเภทไฟล์ที่ตกเป็นเหยื่อของ WannaCry ได้แก่ ไฟล์ฐานข้อมูล, มัลติมีเดีย, และไฟล์ที่บีบอัดไว้ เช่นเดียวกับไฟล์เอกสาร Office ต่างๆ จากข้อความเรียกค่าไถ่ ซึ่งมีรองรับกว่า 27 ภาษานั้น เรียกร้องค่าไถ่จากเหยื่อครั้งแรกสูงถึง 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในรูปของบิทคอยน์ ซึ่งราคาค่าไถ่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปล่อยให้เวลาผ่านไป นอกจากนี้เหยื่อยังมีเวลาเพียงแค่เจ็ดวันก่อนที่ไฟล์ที่ถูกเข้ารหัสจะถูกลบถาวร ซึ่งถือเป็นเทคนิคที่สร้างความตื่นกลัวได้เป็นอย่างดี

 

WannaCry ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่รหัส CVE-2017-0144 ซึ่งเป็นบั๊กบนโปรโตคอลแชร์ไฟล์ชื่อดัง Server Message Block (SMB) ในการแพร่สู่ระบบของเหยื่อ ซึ่งช่องโหว่ที่โดนโจมตีนี้มาจากข้อมูลที่หลุดออกมาจากกลุ่มแฮ็กเกอร์ Shadow Brokers ซึ่งตั้งชื่อบั๊กนี้ว่า “EternalBlue” ซึ่งหลังจากมีการเปิดเผยรายละเอียดสู่สาธารณะแล้ว ทางศูนย์จัดการเหตุการณ์ความปลอดภัยของไมโครซอฟท์หรือ MSRC ก็ได้ออกแพทช์มาอุดช่องโหว่ที่ให้รหัสว่า MS17-010 ตั้งแต่มีนาคม 2560

 

สิ่งที่ทำให้ WannaCry ส่งผลกระทบในวงกว้างมากก็คือ ความสามารถในการแพร่กระจายตนเอง ด้วยพฤติกรรมที่เหมือนเวิร์มนี้ ทำให้ WannaCry สามารถกระจายตัวเองไปบนเครือข่าย, ติดเชื้อระบบที่เชื่อมต่ออยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยการกระทำของผู้ใช้เพิ่มเติม เพียงแค่ขอให้มีผู้ใช้รายเดียวบนเครือข่ายที่ติดเชื้อ ก็เท่ากับว่าทั้งเครือข่ายตกอยู่ในความเสี่ยงแล้ว พฤติกรรมการแพร่เชื้อตัวเองของ WannaCry มีลักษณะคล้ายแรนซั่มแวร์ในตระกูลอย่าง SAMSAM, HDDCryptor, และ Cerber บางสายพันธุ์ โดยทุกสายพันธุ์นี้สามารถติดเชื้อทั้งระบบและเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ ที่เชื่อมต่อผ่านเครือข่ายได้

 

คำถาม: องค์กรที่โดนเล่นงานแล้ว ควรทำอย่างไร?

คำตอบ: Trend Micro แนะนำให้แยกทุกเครื่องที่ติดเชื้อแล้วออกมาจากเครือข่ายในทันที พร้อมทั้งจัดหาข้อมูลแบ๊กอัพล่าสุดไว้ในที่ที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเดิม เนื่องจากการโจมตีนี้ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของไมโครซอฟท์ที่เปิดเผยสู่สาธารณะแล้ว ลูกค้าทุกคนควรพิจารณาปิดการทำงานของ SMB ในเครือข่ายดังกล่าวถ้าเป็นไปได้ ไม่ว่าจะสั่งปิดทั้ง GPO หรือทำตามคำแนะนำของไมโครซอฟท์จาก https://docs.microsoft.com/en-us/msrc/customer-guidance-for-wannacrypt-attacks นอกจากนี้ เรายังแนะนำให้ติดตั้งแพทช์ MS17-010 หรือใช้ระบบเวอร์ช่วลแพทช์ของ Trend Micro เพื่อปิดกั้นช่องทางการติดเชื้อไปยังเครื่องอื่นได้

 

คำถาม: แล้วเราจะป้องกันภัยเหล่านี้ได้อย่างไร?

คำตอบ: WannaCry ได้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตจริงของแรนซั่มแวร์ ไม่ว่าจะเป็น การทำลายระบบ, ทำให้การปฏิบัติงานหยุดชะงัก, ทำให้ชื่อเสียงเสื่อมเสีย, และสร้างความเสียหายทางการเงิน อันเป็นผลมาจากการที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดการกับเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยที่เกิดขึ้น และการกู้คืนระบบอีกด้วย

 

ต่อไปนี้เป็นแนวทางแก้ไข และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ที่แต่ละองค์กรสามารถนำไปใช้ และวางระบบป้องกันให้ระบบของตัวเองพ้นจากภัยร้ายอย่าง WannaCry ได้:

 

  • เนื่องจากแรนซั่มแวร์นี้อาศัยช่องโหว่ในเซิร์ฟเวอร์ SMB ดังนั้นการติดตั้งแพทช์จึงจำเป็นต่อการป้องกันการโจมตีที่เข้ามาทางช่องโหว่ดังกล่าว ซึ่งแพทช์นี้มีพร้อมให้โหลดมาติดตั้งบนระบบวินโดวส์แล้วที่ https://technet.microsoft.com/en-us/library/security/ms17-010.aspx รวมถึงวินโดวส์รุ่นเก่าที่ไมโครซอฟท์เคยประกาศหยุดการซัพพอร์ตไปแล้วด้วย โดยโหลดได้ที่ https://blogs.technet.microsoft.com/msrc/2017/05/12/customer-guidance-for-wannacrypt-attacks/ ถ้าองค์กรไม่สามารถติดตั้งแพทช์ได้โดยตรง ให้ใช้ระบบเวอร์ช่วลแพทช์เพื่อช่วยจัดการแทน
  • ติดตั้งไฟร์วอลล์ และระบบตรวจจับพร้อมป้องกันการบุกรุก เพื่อลดความสามารถในการแพร่กระจายของมัลแวร์ลักษณะนี้ รวมทั้งการติดตั้งระบบตรวจสอบการโจมตีบนเครือข่ายเชิงรุกก็จะช่วยยับยั้งการโจมตีลักษณะนี้ได้อีกแรงหนึ่ง
  • นอกจากใช้ประโยชน์จากช่องโหว่แล้ว ยังมีรายงานว่า WannaCry ใช้เมล์สแปมเป็นช่องทางในการเริ่มต้นเข้ามาติดเชื้อบนเครือข่ายด้วย ดังนั้นจึงควรตรวจสอบอีเมล์สแปมที่เข้าข่ายหลอกลวงทางจิตวิทยา เพื่อจำกัดเมล์ที่อาจมีไวรัสได้ นอกจากนี้ฝ่ายไอทีและแอดมินของระบบต่างๆ ควรวางกลไกด้านความปลอดภัยที่สามารถปกป้องเอนด์พอยต์จากมัลแวร์ที่เข้ามากับอีเมล์ด้วย
  • WannaCry มีการฝังโปรแกรมอันตรายหลายตัวลงในระบบ เพื่อรันกระบวนการเข้ารหัสของตนเอง ดังนั้นระบบไวท์ลิสต์ที่ใช้เทคนิค Application Control จะช่วยป้องกันแอพพลิเคชั่นที่ไม่ต้องการหรือไม่รู้จักไม่ให้ทำงานได้ นอกจากนี้ระบบตรวจสอบพฤติกรรมยังช่วยสามารถสกัดกั้นการปรับแต่งระบบได้ด้วย แรนซั่มแวร์มักจะใช้เทคนิคที่หลากหลายในการแพร่กระจายบนระบบ ซึ่งผู้ที่คอยป้องกันอันตรายเหล่านี้ควรใช้แนวทางเดียวกันนี้ในการปกป้องระบบของตัวเองอย่างสม่ำเสมอด้วย
  • WannaCry เข้ารหัสไฟล์ที่จัดเก็บบนเครื่องปัจจุบัน และไฟล์ที่แชร์ผ่านเครือข่ายด้วย ดังนั้นการคัดแยกชนิดข้อมูลและการเข้าถึงจะช่วยจำกัดบริเวณความเสียหายที่เกิดจากข้อมูลรั่วไหล หรือการโจมตีได้ด้วยการปกป้องข้อมูลสำคัญไม่ให้โดนการโจมตีโดยตรง
  • การแบ่งส่วนของเครือข่าย ยังช่วยสามารถป้องกันการแพร่กระจายของอันตรายลักษณะนี้ได้จากภายใน การออกแบบเครือข่ายที่ดีตั้งแต่ต้น จะช่วยจำกัดบริเวณการแพร่กระจายการติดเชื้อนี้ และลดผลกระทบที่มีต่อองค์กรโดยรวม
  • ปิดการใช้งานโปรโตคอล SMB บนระบบที่ไม่จำเป็นต้องใช้ การรันเซอร์วิสที่ไม่จำเป็นทิ้งไว้ มักเป็นการเปิดช่องให้ผู้โจมตีค้นหาช่องโหว่สำหรับโจมตีเข้ามาได้มากขึ้น

 

คำถาม: เราจะทราบได้อย่างไรว่าองค์กรได้รับการปกป้องดีแล้ว?

คำตอบ: Trend Micro มีทูลฟรีที่โหลดได้จาก https://www.trendmicro.com/product_trials/service/index/us/164 ที่ช่วยให้องค์กรต่างๆ ตรวจหาช่องโหว่บนโซลูชั่นการปกป้องเอนดพอยต์ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน โดยให้เทคนิคด้านความปลอดภัยบนเอนด์พอยต์ขั้นสูง ที่จำเพาะสำหรับสกัดกั้นอันตรายได้มากกว่า ไม่ให้เข้ามายังเครือข่ายหรืออยู่บนเอนด์พอยต์ของคุณได้

 

ลูกค้าของ Trend Micro ได้รับการปกป้องจากภัยร้ายนี้หรือยัง?

เรามีชุดของโซลูชั่นที่ให้การปกป้องอีกระดับจากอันตรายใหม่ๆ เหล่านี้ อันได้แก่:

  • เทคโนโลยีการอัพเดตการตั้งค่า และความปลอดภัยแบบ Next-Gen – ลูกค้าของ Trend Micro ที่ใช้โซลูชั่น OfficeScan และ Worry-Free Business Security รุ่นล่าสุด สามารถอุ่นใจได้ว่า จะได้รับฟีเจอร์ใหม่ทั้ง Predictive Machine Learning (บน OfficeScan XG และบริการ Worry-Free) และฟีเจอร์การป้องกันแรนซั่มแวร์ อยู่ในผลิตภัณฑ์ของตนเองเรียบร้อย ซึ่งคุณสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตั้งค่าให้เหมาะสมกับการป้องกันแรนซั่มแวร์ได้มากที่สุดจาก https://success.trendmicro.com/solution/1112223
  • Smart Scan Agent Pattern และ Office Pattern Release: Trend Micro ได้เพิ่มข้อมูลสายพันธุ์มัลแวร์ และการตรวจจับโปรแกรมอันตรายใหม่ๆ ลงในข้อมูลแพทเทิร์นดังต่อไปนี้สำหรับทุกผลิตภัณฑ์ที่ใช้ข้อมูลแพทเทิร์นนี้แล้ว

o  Smart Scan Agent Pattern – 13.399.00

o  Official Pattern Release (conventional) – 13.401.00

  • Trend Micro Web Reputation Services (WRS) มีการเพิ่มข้อมูลเซิร์ฟเวอร์สั่งการของแฮ็กเกอร์ หรือ C&C เพิ่มเติม
  • Trend Micro Deep Security และ Vulnerability Protection (รู้จักกันก่อนหน้านี้ในชื่อ IDF Plug-in for OfficeScan) ซึ่งลูกค้าที่อัพเดต Rule ล่าสุดแล้ว จะได้รับการปกป้องอีกระดับสำหรับวินโดวส์หลายรุ่นพร้อมกัน ซึ่งรวมถึงรุ่นที่ไมโครซอฟท์สิ้นสุดการซัพพอร์ตแล้วอย่าง XP, 2000, 2003 ด้วย โดย Trend Micro ได้ออก Rule สำหรับป้องกันภัยใหม่ดังกล่าวดังนี้

o  IPS Rules 1008224, 1008228, 1008225, 1008227 – ซึ่งรวมเอาแพทช์อย่าง MS17-010 และการปกป้องเพิ่มเติมที่ป้องกันการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของ SMB บนวินโดวส์ด้วย

  • Trend Micro Deep Discovery Inspector ลูกค้าที่ใช้ Rule รุ่นล่าสุดจะได้รับการปกป้องขึ้นมากอีกระดับจากช่องโหว่ที่มีการใช้ประโยชน์ในการโจมตี โดยทาง Trend Micro ได้ออก Rule เพิ่มเป็นทางการสำหรับการป้องกันเชิงรุกดังนี้

o  DDI Rule 2383:  CVE-2017-0144 – Remote Code Execution – SMB (Request)

  • Trend Micro TippingPoint filter ดังต่อไปนี้ได้รับการปรับปรุงเพื่อการป้องกันที่ดีขึ้น ได้แก่

o  Filters 5614, 27433, 27711, 27935, 27928 – ที่ครอบคลุมถึง MS17-010 และการป้องกันการโจมตีด้วยการรันโค้ดผ่าน SMB ของวินโดวส์จากระยะไกล

o  ThreatDV Filter 30623 – ช่วยจำกัดการสื่อสารขาออกแบบ C2

o  Policy Filter 11403 – ให้การปกป้องมากขึ้นอีกระดับต่อการแบ่งส่วนข้อมูลบน SMB ที่น่าสงสัย

10 เทคนิคช่วยแอดมินมือใหม่ปรับปรุงเว็บไซต์ให้ปลอดภัยมากขึ้น

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เชื่อว่าวงการนักพัฒนาเว็บไซต์มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้ใช้งานเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะระบบ CMS (Content Management Systems) อย่าง WordPress, Joomla, Drupal และอีกหลายๆ ตัวที่มาทำให้การสร้างเว็บไซต์เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แม้ผู้สร้างจะมีความรู้ด้านการพัฒนาน้อยมากก็ตาม

002

แน่นอนว่า เครื่องมือเหล่านั้นมีประโยชน์ แต่ทิศทางของการพัฒนาเช่นนี้ก็ทำให้เกิดปัญหาน่าวิตกกังวลข้อหนึ่งขึ้นมาเช่นกัน นั่นคือเว็บมาสเตอร์ที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังขาดความตระหนักในเรื่องภัยคุกคามทางไซเบอร์ วันนี้เราเลยจะมาคุยกันว่า สามารถทำให้เว็บไซต์ของเรานั้นปลอดภัยมากขึ้นได้อย่างไร

1 อัพเดตอยู่เสมอ

มีเว็บไซต์จำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่ให้ความสำคัญกับการอัพเดตซอฟต์แวร์ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดอยู่เสมอ ขณะที่การแฮ็กระบบนั้น เดี๋ยวนี้มี ‘บอต’ เข้าไปช่วยสแกนหาช่องโหว่ตามเว็บไซต์ต่างๆ และเจาะระบบให้โดยอัตโนมัติไปเรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นเว็บไซต์ที่พัฒนาโดย WordPress อาจลองใช้ปลั๊กอิน WP Updates Notifier ที่จะแจ้งเตือนทันทีเมื่อมันพบว่ามีการอัพเดตจาก WordPress เพื่อที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการอัพเดตได้รวดเร็วขึ้น

2 Password

สำหรับผู้ที่อยากตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัยเรามีเกณฑ์มาฝากกัน 3 ข้อ ข้อแรกคือต้องซับซ้อนสักหน่อยอาจเป็นคำที่ Random มาก็ได้ แต่อย่าเอาข้อมูลวันเกิด ทีมบอลที่ชอบ ฯลฯ มาใช้เด็ดขาด ข้อสองคือ ควรจะยาวอย่างน้อย 12 ตัวอักษรขึ้นไปจะปลอดภัยสูงกว่า เพราะบรรดาบอตที่คอยเจาะระบบนั้น บางตัวจะถูกเซ็ตค่าให้ป้อนรหัสผ่านแค่ 8 ตัวเท่านั้น และข้อสามอย่าใช้รหัสผ่านซ้ำกับระบบอื่น เช่น อีเมล หรือบัญชีธนาคาร เพราะอาจถูกเจาะระบบต่อเนื่องได้

3 อย่าเก็บทุกอย่างไว้บนเซิร์ฟเวอร์เดียว

ในกรณีที่มีหลายเว็บไซต์ให้ดูแล การเก็บทุกอย่างไว้บนเซิร์ฟเวอร์ตัวเดียวอาจเป็นเรื่องสะดวก แต่ถ้าถูกโจมตีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายก็สูงตามไปด้วย และเมื่อถูกเจาะได้แล้ว ก็มีโอกาสที่จะถูกเจาะใหม่ในอนาคตอีกด้วย

4 เว็บไซต์ที่มีล็อกอินหลายชุด

ผู้ที่เป็นแอดมินหลักต้องดูแลสิทธิในการเข้าถึงของยูสเซอร์รายอื่นๆ ให้เหมาะกับงานและถ้าเกิดกรณีที่ยูสเซอร์บางรายขออนุญาตเข้าใช้บางฟังก์ชั่นเป็นกรณีพิเศษ ก็ให้เป็นกรณีๆ ไปเมื่อจบงานก็ควรลบสิทธิ์ในการเข้าถึงนั้นๆ ด้วยและอย่าให้สิทธิ์ถึงขั้นที่ผู้ใช้งานรายนั้นสามารถเข้ามาเป็นแอดมินของระบบได้ เหล่านี้จะช่วยให้แอดมินควบคุมเว็บไซต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถตรวจตราการใช้งานของยูสเซอร์แต่ละรายได้ว่ามีพฤติกรรมการใช้งานอย่างไร เสี่ยงต่อการถูกเจาะระบบหรือไม่ด้วย

001_cr

5 อย่าตั้งค่า CMS (Content Management System) เป็น Default

การใช้งานโปรแกรมประเภทจัดการเนื้อหาเว็บไซต์หรือ CMS นั้น ควรเข้าไปปรับในส่วนของการควบคุมอื่นๆ ข้างใน เพราะเว็บไซต์ที่ใช้การตั้งค่าเริ่มต้นของโปรแกรมเอาไว้นั้นจะมีโอกาสถูกเจาะระบบสูงกว่า

6 เลือก Extension ต่างๆ ให้ดี

การเลือกส่วนขยายมาเชื่อมต่อเพิ่มเติมอาจทำให้เกิดช่องโหว่ได้ เพราะ Extension บางตัวอาจมีผลต่อระบบรักษาความปลอดภัย ดังนั้นการเลือก Extension อาจดูได้จากการอัพเดต ถ้าไม่มีการอัพเดต Extension นั้นๆ เลย ก็เป็นไปได้ว่านักพัฒนาอาจเลิกสนใจExtension ตัวนั้นไปแล้ว อีกข้อมูลที่ควรสนใจก็คือชื่อของนัก พัฒนาว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน และจำนวนคนที่ติดตั้ง Extension ตัวนั้นมีมากเท่าไร เพราะนักพัฒนาที่มีประสบการณ์แล้วก็มีโอกาสที่จะตระหนักเรื่องความปลอดภัยมากกว่า แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือควรดาวน์โหลด Extension จากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น

7 แบ็กอัพไว้บ้าง

เพราะโอกาสที่เว็บไซต์จะเกิดความเสียหายแล้วได้ตัวแบ็กอัพช่วยไว้ก็มีอยู่มาก

8 ตั้งค่าใน Server Configuration Files เพิ่มเติม

แอดมินควรตั้งค่าใน Configuration Files เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ เช่น Prevent directory browsing, Prevent imagehotlinking หรือ Protect sensitive files เพื่อลดโอกาสที่ผู้ไม่ประสงค์ดีจะเข้ามาดูคอนเทนต์ต่างๆ ได้อย่างสะดวกโดยอาจศึกษาจากหัวข้อ Security เพิ่มเติมก็ได้

9 ติดตั้ง SSL (Secure Socket Layer)

โดยเฉพาะเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ หรือเว็บไซต์ที่ต้องมีการรับส่งข้อมูลสำคัญ เพราะ SSL หรือมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยบนระบบอินเทอร์เน็ตนี้จะช่วยเข้ารหัสข้อมูลจากจุด A ไปจุด B ซึ่งลดโอกาสการถูกโจมตีระหว่างทาง หรือ Man in the Middle (MITM) attack ได้

10 เข้าใจเรื่อง File Permissions

เราสามารถทำงานกับไฟล์ต่างๆ ได้สามแบบคือ Read, Write และ Execute ซึ่งแทนด้วยตัวเลข 4, 2 และ 1 ตามลำดับ ส่วนระดับยูสเซอร์เบื้องต้นก็แบ่งออกได้เป็นสามแบบง่ายๆ ได้แก่ Owner (เจ้าของ) Group (กลุ่ม) และ Public (ทุกคน) แอดมินระบบต้องมีการจัดการว่ายูสเซอร์แต่ละระดับจะท?ำอะไรกับไฟล์ได้บ้าง เช่น ระดับ Owner อาจอนุญาตให้ Read (4) และ Write (2) ได้ ยูสเซอร์ระดับ Group อาจ Read (4) ได้อย่างเดียว ส่วนระดับ Public อาจทำอะไรไม่ได้เลย (0) ผลคือ File Permission จะแสดงตัวเลข 640

003

การเข้าไปเซ็ตค่าตัวนี้จะมีประโยชน์มาก และทำให้เว็บปลอดภัยขณะที่บางเว็บอาจแนะนำให้เซ็ตไว้ที่ 666 หรือ 777 ซึ่งหมายความว่าคุณอนุญาตให้ “ใครก็ได้” เข้ามาใส่มัลแวร์ในระบบหรือลบไฟล์ในฐานข้อมูลได้นั่นเอง

ทั้ง 10 ข้อนี้ อาจเป็นเทคนิคเบื้องต้นที่แอดมินมือใหม่สามารถศึกษาและปฏิบัติตามเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับเว็บไซต์ได้ก็จริง แต่ไม่อาจการันตีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่ถูกแฮ็ก ดังนั้นสำหรับแอดมินมือใหม่ควรหมั่นติดตามข่าวคราวและศึกษาเทคโนโลยีต่างๆ อยู่เสมอ

ปกป้องแอพพลิเคชั่นบนเว็บด้วย Web Application Firewall Service ด้วยความตระหนักถึงภัยคุกคามต่างๆ ที่กำลังพุ่งเป้ามาสู่เว็บไซต์ขององค์กร CAT จึงได้พัฒนาบริการ Web Application Firewall Service บริการป้องกันการโจมตีเว็บไซต์ ที่ให้บริการในรูปแบบ Security Cloud Service เพื่อให้ลูกค้าลดภาระด้านการลงทุนอุปกรณ์ แต่พร้อมด้วยประสิทธิภาพการป้องกันภัยคุกคามจากการโจมตีเว็บไซต์หลากหลายรูปแบบ เช่น การตรวจจับพฤติกรรมการใช้งาน Web Application ที่ผิดปกติ ตอบสนองทุกความต้องการของธุรกิจกับ 2 แพ็กเกจ ให้เลือกใช้งาน คือ Standard Web Application Firewall และ Advanced Web Application Firewall โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.catcyfence.com

ที่มา นิตยสาร CAT MAGAZINE ฉบับ 47 ประจำเดือนเมษายน-มิถุนายน

Banner CAT MAG 300x300 Pixels

You may have missed